เรื่องการถ่ายภาพไม่ชัด สำหรับมือใหม่ ถือว่าเป็นปัญหาพอสมควร เราจึงประมวลวิธีการถ่ายภาพ 10 ขั้นตอนดังนี้
กรรมวิธีที่ 1
กดชัตเตอร์ในนิ่มนวลในการถ่ายภาพ การกดชัตเตอร์ด้วยความรวดเร็วหรือหนักเกินไปจะทำให้กล้องไหวได้ง่าย ควรเลือกใช้กล้องที่มีน้ำหนักมากกว่าเบา เพราะด้วยน้ำหนักของกล้องนั่นเองทำให้การกดชัตเตอร์มีความเสถียรมากกว่าการกดชัตเตอร์ของกล้องที่มีน้ำหนักค่อนข้างเบาทำให้ได้ภาพที่คมชัดกว่าในการใช้งานดังนั้นการกดชัตเตอร์ที่นิ่มนวลจะช่วยลดปัญหา
กรรมวิธีที่ 2
โฟกัสให้ชัดก่อนกดชัตเตอร์ ปัญหาถ่ายรูปไม่ชัดส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุนี้ ถ้าคุณโฟกัสภาพด้วยมือต้องระลึกเสมอว่าต้องปรับระยะชัดให้ดีก่อนกดชัตเตอร์ ดังนั้นถ้าโฟกัสเองแล้วไม่ชัดก็ไม่ต้องไปโทษใครหรอก ข้าพเจ้าเองแหละครับ แต่ถ้าเป็นระบบออโต้โฟกัส สิ่งที่คุณต้องเข้าใจมี 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องจุดโฟกัสของกล้อง การเลือกจุดโฟกัสถ้ากล้องมีหลายจุดจะทำให้คุณโฟกัสในตำแหน่งที่ต้องการได้อีกเรื่องหนึ่งก็คือการยืนยันโฟกัสของกล้อง ซึ่งกล้องมักจะมีสัญญาณเตือนให้ทราบ เช่นสัญญาณที่เป็นจุดเขียวในแถบข้อมูลของช่องมองภาพ หรือสัญญาณเสียงก็ตามนั่นหมายความว่ากล้องยืนยันการโฟกัสเมื่อกดชัตเตอร์จะทำให้ได้ภาพที่คมชัด
กรรมวิธีที่ 3
เลือกความไวชัตเตอร์ให้สูงขึ้นป้องกันการสั่นไหวของกล้องปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่งที่ทำได้รูปถ่ายไม่ชัดก็คือ ภาพที่ถ่ายออกมาไหว ปัญหานี้เกิดจากการถ่ายภาพที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่ง อีกสาเหตุหนึ่งก็คือการถือกดชัตเตอร์แล้วกล้องไหว แก้ได้ไม่ยาก เรื่องแรกก็คือถ้าคุณถือกล้องถ่ายรูปต้องถือให้มั่น กดชัตเตอร์ให้นุ่มนวลขึ้นก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกล้องไหวได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือการเลือกความไวชัตเตอร์ให้สูงขึ้นเพื่อลดการไหวของกล้อง เท่านี้คุณก็จะเพิ่มโอกาสให้ถ่ายรูปได้ภาพที่นิ่งมีความคมชัดมากขึ้น
กรรมวิธีที่ 4
ใช้ขาตั้งกล้องช่วยป้องกันการไหวของกล้อง หลายครั้งที่การถ่ายภาพจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำในการถ่ายภาพซึ่งจะทำให้การถือกล้องให้นิ่งไม่ให้สั่นไหวทำได้ยาก อย่าฝืนควรเลือกการใช้ขาตั้งกล้องช่วยจะทำให้สามารถถ่ายรูปได้โดยกล้องไม่ไหว ภาพที่ได้ก็จะเพิ่มโอกาสให้มีความคมชัดมากขึ้น อีกประการหนึ่งการเลือกใช้ขาตั้งกล้องก็ควรมีความสมดุลกับกล้องที่ใช้งาน ถ้ากล้องเล็กขาตั้งกล้องเล็กก็ถือว่าใช้งานสมน้ำสมเนื้อ แต่ถ้าคุณใช้กล้อง D-SLR ติดเลนส์ที่ใหญ่ขึ้นการใช้ขาตั้งกล้องที่เล็กเกินไปก็อาจจะมีโอกาสทำให้กล้องสั่นไหวได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นกล้อง D-SLR การกระดกของกระจกการลั่นชัตเตอร์ซึ่งแม้เพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสทำให้กล้องสั่นได้เช่นกัน
กรรมวิธีที่ 5
เลือกรูรับแสงที่แคบเพื่อเพิ่มความชัดลึกการเลือกรูรับแสงที่แคบเล็กหน่อยจะทำให้วัตถุมีความชัดลึกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าการโฟกัสภาพคลาดเคลื่อนเล็กน้อยการควบคุมภาพให้มีความชัดลึกก็สามารถช่วยให้วัตถุยังมีความคมชัดอยู่ได้ส่วนหนึ่งอีกประการหนึ่งการถ่ายภาพที่มีความชัดลึกไว้หน่อยจะทำให้การมองภาพเสมือนมีความชัดมากขึ้น
กรรมวิธีที่ 6
เลือกทิศทางแสงในการถ่ายภาพเพื่อให้มีมิติ ในการดูภาพเราจะพบว่าถ้าวัตถุที่เราถ่ายภาพมีมิติจะทำให้ภาพดูมีความคมชัดมากขึ้น ทิศทางของแสงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ภาพมีมิติ แสงด้านข้างจะทำให้เกิดเงาซึ่งจะช่วยให้วัตถุที่เราถ่ายภาพมีมิติมากขึ้น การเลือกทิศทางแสงด้านข้างจะช่วยเรื่องมิติภาพได้เป็นอย่างดีทำให้ภาพมีความคมชัดมากขึ้น
กรรมวิธีที่ 7
เลือกถ่ายภาพวัตถุให้มีความเปรียบต่างมากขึ้นความเปรียบต่างของวัตถุที่เราถ่ายภาพจะช่วยให้การดูภาพเสมือนหนึ่งมีความคมชัดทีดี เพราะความเปรียบต่าง (CONTRAST) จะทำให้การดูภาพมีความตัดกันในด้านของโทนภาพ หรือสีสันของภาพที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ภาพดูมีความคมชัดได้มากขึ้น
กรรมวิธีที่ 8
เลือกถ่ายภาพวัตถุที่มีรายละเอียดมากขึ้น โดยปกติเมื่อเราดูภาพวัตถุที่มีรายละเอียดมากเปรียบเทียบกับวัตถุที่มีรายละเอียดที่น้อยกว่า เราจะรู้สึกว่า ภาพที่มีรายละเอียดที่มากกว่านั้นจะมีความคมชัดที่ดีกว่าภาพของวัตถุที่ไม่มีรายละเอียดทั้งที่ความจริงแล้วความคมชัดนั้นเท่ากัน แต่ที่เห็นต่างกันก็คือความรู้สึก ดังนั้นการสร้างสรรค์ภาพด้วยการเลือกถ่ายภาพที่มีรายละเอียดมากกว่าจึงทำให้รู้สึกว่าภาพมีความคมชัดที่ดีกว่า
กรรมวิธีที่ 9
เลือกเวลาถ่ายภาพในยามที่ลมสงบ ถ้าคุณถ่ายภาพวัตถุที่บางเบา หรือวิวทิวทัศน์ที่มีกิ่งไม้ใบหญ้าคุณควรระลึกเสมอว่า กระแสลมที่แรงนั้นมีส่วนที่ทำให้วัตถุที่คุณกำลังจะถ่ายภาพมีการเคลื่อนไหวได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณต้องเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำด้วยแล้วแม้ว่าจะมีขาตั้งกล้องก็ตาม แต่การที่วัตถุมีการสั่นไหวด้วยแรงลมก็จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัตถุขาดความคมชัดได้ ดังนั้นการรอเวลาให้ลมสงบก่อนการกดชัตเตอร์จะเป็นการลดการไหวของวัตถุจากแรงลมได้เป็นอย่างดีเพื่อทำให้ได้ภาพที่คมชัด
กรรมวิธีที่ 10
ข้อควรระวังเกี่ยวกับเลนส์ เชื่อว่าเพื่อนๆ นั้นต่างก็ถือเลนส์ใช้งานที่แตกต่างกัน บางท่านอาจจะถือเลนส์โปรตัวละหลายหมื่นบาท บางท่านอาจจะถือเลนส์ธรรมดาตัวละไม่ถึงหมื่น ซึ่งคุณภาพเลนส์ที่แตกต่างกันก็มีผลส่วนหนึ่งละครับสำหรับในเรื่องของความคมชัด แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่มากกว่านั้นก็คือ การถ่ายภาพย้อนแสง สำหรับเลนส์คุณภาพสูงนั้นอาการแฟลร์แ ละอาการฟุ้งของเลนส์จะมีน้อยกว่าเลนส์คุณภาพรองลงมา ยิ่งถ้าเป็นเลนส์คุณภาพต่ำด้วยแล้วอาการทั้งแฟลร์และแสงฟุ้งจะมีมากขึ้นอาการเหล่านี้จะลดความคมชัดของภาพลงทันที ดังนั้นการระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพที่จะต้องย้อนแสงโดยตรงจะช่วยลดอาการฟุ้งไปได้มาก ซึ่งจะทำให้ภาพมีความคมชัดได้ดีขึ้น หรือการใช้ Hood บังแสงที่หน้าเลนส์ก็จะเป็นการช่วยลดอาการดังกล่าวได้มากค
ทั้ง 10 กรรมวิธี ที่กล่าวมานี้จะช่วยตอบข้อข้องใจสงสัยในเรื่องการถ่ายภาพอย่างไรให้คมชัด และการหมั่นทดลองทดสอบการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ที่มีอยู่จะช่วยให้คุณสามารถ่ายภาพได้คมชัด ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาการถ่ายภาพให้มีคุณสูงยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น